กรุณาเลือกผู้ใช้งานเพื่อเข้าสู่ระบบ:

โทรศัพท์ +66 7428 7841

โทรสาร +66 7428 7890

ติดตามเรา

  • ไทย

เข้าสู่ระบบ

วจก. ม.อ. ตอบโจทย์มหาวิทยาลัยเพื่อสังคม จับมือออมสินพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นตามโครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น ปี 2566

วันที่ 6 ตุลาคม 2566 ณ ห้องเพิ่มทรัพย์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ รองศาสตราจารย์ธีรวัฒน์ หังสพฤกษ์ คณบดีคณะวิทยาการจัดการ ให้การต้อนรับ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจผู้ประกอบการรายย่อยและองค์กรชุมชน (คุณสุรพล โสมะภีร์) ท่านผู้จัดการธนาคารออมสินสาขาศรีภูวนาถ (คุณบุญลือ ประยูร) ท่านผู้ช่วยผู้อำนวยการธนาคารออมสินภาค 18 (คุณธัชกวินท์ รัตตโน) พร้อมด้วยทีมงานธนาคารออมสินภาค 18 เพื่อรับฟังการนำเสนอการปิดโครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น 2566 โดยในปีนี้มีกลุ่มองค์กรชุมชนซึ่งนักศึกษาและอาจารย์ของคณะวิทยาการจัดการได้ลงพื้นที่ชุมชนเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ ส่งเสริมการขาย การออม และการทำบัญชี จำนวน 3 กลุ่ม ในพื้นที่อำเภอควนเนียง จังหวัดสงขลา ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนนวัตวิถีบางเหรียงใต้ กลุ่มสัมมาชีพ ชุมชนบางเหรียง และกลุ่มชุมชนบางเหรียงปันรัก ทั้งนี้ในวันปิดโครงการกลุ่มองค์กรชุมชนทั้ง 3 กลุ่ม ได้นำสินค้ามาจัดแสดงและวางจำหน่าย ณ บริเวณลานบน อาคารเรียน 2 คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

รองศาสตราจารย์ธีรวัฒน์ หังสพฤกษ์ คณบดีคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์กล่าวเพิ่มเติมว่า คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ร่วมมือกับ ธนาคารออมสิน กำหนดยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก โดยให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและพัฒนาระบบเศรษฐกิจในระดับชุมชน ซึ่งเป็นหน่วยเศรษฐกิจหลักของระบบเศรษฐกิจ ซึ่งคณะวิทยาการจัดการได้เข้าร่วมในการจัดกิจกรรมด้านการเสริมสร้างและพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น ด้วยการบูรณาการภูมิปัญญาและวิทยาการสมัยใหม่ของคณะกับภูมิปัญญาและทรัพยากรท้องถิ่น ตามโครงการ “ออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น” มาตั้งแต่ปี 2561 นำนักศึกษาและคณาจารย์เข้าไปร่วมเรียนรู้กับชาวบ้านเพื่อพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมทั้งได้ช่วยในการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ช่วยในการออกแบบผลิตภัณฑ์ ออกแบบโลโก้ บรรจุภัณฑ์ รวมทั้งสอนการทำบัญชีให้แก่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนต่าง ๆ โดยในปี 2561 คณะได้ลงพื้นที่ 5 กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ในอำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง ปี 2562 ลงพื้นที่ 4 กลุ่มวิสาหกิจชุมชนในอำเภอจะนะ สิงหนคร และควนเนียง จังหวัดสงขลา ปี 2563-2564 ลงพื้นที่พัฒนากลุ่มวิสาหกิจชุมชน 4 กลุ่ม ในพื้นที่อำเภอควนเนียง จังหวัดสงขลา ส่วนในปี 2565 ได้ลงพื้นที่อำเภอควนเนียง จังหวัดสงขลา 3 กลุ่ม ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนรักษ์เลอ่าวทึงลากูน วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเลี้ยงผึ้งโพรงและชันโรงฅนบางเหรียง และวิสาหกิจชุมชนฅนบางเหรียงแปรรูปและการท่องเที่ยวเชิงเกษตร และต่อเนื่องมาถึงปี 2566 ยังคงลงพื้นที่อำเภอควนเนียง จังหวัดสงขลา 3 กลุ่มใหม่ ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนนวัตวิถีบางเหรียงใต้ กลุ่มสัมมาชีพ ชุมชนบางเหรียง และกลุ่มชุมชนบางเหรียงปันรัก ซึ่งโครงการนี้จะมีส่วนช่วยในการพัฒนานักศึกษาให้สามารถประยุกต์องค์ความรู้สมัยใหม่ที่ได้เรียนมาในการเข้าไปช่วยพัฒนาชุมชนบ้านเกิด โดยยังคงไว้ซึ่งการรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ดีงาม นอกจากนี้ โครงการนี้ยังช่วยส่งเสริมการมีจิตสาธารณะให้แก่นักศึกษา สอดคล้องกับพระราชปณิธานของพระราชบิดา ที่ว่า ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตนเป็นที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง